วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

บันทึกที่ภูฐาน

ที่มา :

ที่มา : http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=430&Itemid=32

16 เดือนที่ผมเป็นนักการเมือง: นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ตอนที่ 1

3 กันยายน 2549
“พักสมองแว้ปหนึ่งที่ภูฏาน”

ชีวิตประจำวันที่วิ่งวุ่นและเร็วจี๋ตั้งแต่เช้าจรดเย็นอยู่ทุกวันในเมืองไทย พลันต้องชะลอลงอย่างทันทีเมื่อล้อเครื่องบินแตะรันเวย์สนามบินแห่งชาติภูฏานที่เมืองธิมพู (Thimphu)

ขอบคุณศูนย์คุณธรรม (ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม) ที่ได้เชิญให้เข้าร่วมเดินทางไปทัศนศึกษา ความสุขมวลรวมประชาชาติ :GNH ของประเทศภูฏาน ระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม ที่ผ่านมา

คณะเดินทางประกอบด้วย อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม, น้าประยงค์ รณรงค์, ดร.นพดล กรรณิการ์ (ABAC Poll), รองเลขธิการ สศช.คุณกิตติศักดิ์ สินธุวณิชย์, นพ.อุกฤษณ์ มิลินทางกูร, คุณธีรภาพ โลหิตกุล, คุณนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ (ผอ.ศูนย์คุณธรรม), คุณอัมพร แก้วหนู (พอช.), หลวงตาแชร์ พระครูชฎิลใบฎีกา, ฯลฯ

ที่ภูฏานวิถีชีวิตสังคมเกษตรเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า ผู้คนมีความสงบ สันติ อยู่ในวิถีพุทธศาสนา นิกายมหายานแบบธิเบต (วัชรญาณ) ชีวิตผู้คนไม่ต้องดิ้นรนแบบสังคมทุนนิยมสมัยใหม่เหมือนประเทศไทยและที่อื่นๆ

ที่นั่นมีเรื่องน่าเรียนรู้และชวนให้เกิดแรงบันดาลใจหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องความสุข ความสงบ ธรรมชาติ และศาสนธรรม

กลับจากทัศนศึกษาคราวนี้ ศูนย์คุณธรรมขอให้เขียนเรื่องราวที่ได้พบเห็นเพื่อเขาจะนำไปรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 1 เล่ม โดยมีคุณธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีผู้โด่งดังในทีมของเราทำหน้าที่เป็น บรรณาธิการ จึงได้ลงมือเขียนเรื่อง “จากสยาม ฟาฏอนี สู่ภูฏาน : ความเหมือนที่แตกต่าง” และส่งต้นฉบับให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หมดภาระไปหนึ่งอย่างสำหรับ Event นี้

วันพุธ 30 สิงหาคม ไปพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลลูกโลกสีเขียว รางวัลสำหรับชุมชนคนรักป่าที่ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 8 แล้ว โครงการนี้มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินและ ปตท.เป็นผู้สนับสนุน

เราไปดูงานของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองคราม เคยได้รับรางวัลมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน ปีนี้ไปดูอีกครั้งเพื่อพิจารณาชุมชนที่เหมาะสมสำหรับการมอบรางวัล “5 ปีแห่งความยั่งยืน” ในปลายปีนี้

ที่นี่ชุมชนเข้มแข็งมาก สามารถรักษาป่าและแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี เนื้อที่ป่าเกือบ 20,000 ไร่ ชุมชนเพียงแค่ 100 ครอบครัวเท่านั้นเขาสามารถดูแลป่าเอาไว้ได้โดยต้องผ่านการต่อสู้กับนายทุนและข้าราชการอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ผู้นำคนหนึ่งถูกยิงตาย ทำให้ชุมชนชะงักไประยะหนึ่ง แต่ในที่สุดพวกเขาก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่จนสามารถรักษาทรัพยากรของแผ่นดินเอาไว้ได้

พฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม ที่ศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศพต.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นโดยอำนาจของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชันวัตร ตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ศพต.แห่งนี้ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ไฟใต้และให้ข้อมูลและข้อเสนอโดยตรงแก่รัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง ผู้ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลงานพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

น่าสงสารมาก วันนี้มีคณะเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามกลางเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 15 คน มาขอเข้าพบผมเพื่อร้องทุกข์ พวกเขาเป็นกำลังพลที่ถูกส่งไปปฏิบัติงานใน จชต.และได้รับบาดเจ็บ ตอนที่อยู่ในโรงพยาบาลในพื้นที่ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ไปเยี่ยมกันเยอะ แต่เมื่อถูกส่งเข้ามารักษาต่อที่ รพ.พระมงกุฎเกล้าในกรุงเทพฯ กลับถูกทอดทิ้ง สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่ได้รับตามสิทธิ์ ไม่รู้จะร้องเรียนที่ไหน ทราบข่าวจึงมุ่งมาหา

เสาร์ที่ 2 ก.ย. สุดสัปดาห์ ไปสัมมนาคณะกรรมการบริหารโครงการเมืองน่าอยู่ ที่จังหวัดนครนายก ไอยรารีสอร์ทเพิ่งเปิดใหม่ จัดสถานที่น่ารักดี อยู่หน้าเขื่อนคลองท่าด่านซึ่งมหึมามาก

โครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ ที่ LDI, มูลนิธิพัฒนาไท, สภาพัฒน์ และ ส.ส.ส.ร่วมดำเนินงานกันมาเพิ่งจะจบปีที่ 2 เรามา workshop กันเพื่อเตรียมโครงการปีสุดท้าย

งาน 2 ปีที่ผ่านมาของโครงการ อยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ ที่ประชุมจึงวางเป้าหมายว่าในปีสุดท้ายจะต้องจบลงด้วยรูปธรรมความสำเร็จพอสมควร และคาดว่าน่าจะเกิดสถาบันวิจัยเมืองน่าอยู่ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนทำงานอย่างเป็นกิจลักษณะร่วมกับเครือข่ายเมืองน่าอยู่ทั่วประเทศต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น