วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

ความเป็นมา


เจาะลึก “การทำงานพัฒนา” เครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช
ที่มาของข้อมูล http://www.esaanvoice.net/esanvoice/know/show.php?Category=knowlege&No=1762


ในอดีตที่ผ่านมาถือได้ว่าวัดและพระสงฆ์มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก วัดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการประกาศศาสนาจนเป็นที่ยอมรับศรัทธาและความเคารพของคนในชุมชน แต่เมื่อความเจริญในรูปแบบต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน บทบาทของวัดและพระสงฆ์เริ่มลดลง ทำให้วัดและพระสงฆ์มีการมุ่งเน้นการพัฒนาแต่ “ทางโลก” ทำให้ละเลยมิติ “ทางธรรม” เป็นเหตุให้สถาบันศาสนาคงเหลือแต่บทบาทในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น

ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็เหมือนกันที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ทางพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมาเลยมีการรวมตัวกันเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน ในชื่อที่ว่า “เครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช” ที่มา วิธีคิด และวิธีการทำงานนั้น หลายคนเองก็ยังคงสงสัยว่าพระสงฆ์ทำอะไรได้บ้างต่อการพัฒนาชุมชน หาคำตอบได้ที่นี่


“แนวดิ่ง แนวราบ” ผนึกกำลังสร้างเครือข่าย
การก่อเกิดของเครือข่ายพระสังฆพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งโดยพระสงฆ์นักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์และเคยร่วมทำงานพัฒนามาด้วยกัน อีกทั้งมีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์ในชุมชนเพื่อพัฒนาให้มีองค์ความรู้ที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ในการทำงานพัฒนาชุมชน เครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช เกิดขึ้นได้โดยการนำของพระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “หลวงตาแชร์”

“หลังจากมีการรวมกลุ่มกันได้ในครั้งแรก 10 วัด ก็ได้ทำงานหลายโครงการเพื่อชุมชน เริ่มต้นได้เริ่มทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน งานอบรมคุณธรรมจริยธรรม งานฝึกอาชีพด้านการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ในชุมชน จนทำเกิดความเชื่อมั่นของพระสงฆ์ในพื้นที่และคนในชุมชน” พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือ “หลวงตาแชร์” ประธานเครือข่ายพระสังฆพัฒนากล่าวถึงความเป็นมาของเครือข่าย

หลวงตาแชร์ กล่าวต่อว่า “เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2545 ก็คิดว่าการทำงานไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ทางพระสังฆพัฒนาจึงร่วมมือกับพระสังฆาธิการ ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงสร้างเครือข่ายตามระบบการปกครองของคณะสงฆ์ประจำจังหวัด มารวมพลังกันเพื่อทำงานในการสร้างเข้มแข็งให้กับชุมชน จนตอนนี้ถ้าพูดถึงเครือข่ายพระสังฆพัฒนาโคราช ก็หมายถึงเครือข่ายของพระสงฆ์ทั้งจังหวัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ”

แนวคิด “พัฒนาคนก่อนพัฒนางาน”
คุณธรรม นำหน้าการพัฒนาทุกรูปแบบ โดยเน้นการพัฒนาคนก่อนพัฒนางาน
นี่คือแนวคิดต้นแบบของการทำงานเครือข่ายพระสังฆพัฒนา โดยพยายามให้พระสงฆ์ในเครือข่ายได้ทำงานด้วยความสุขและ
มีสัมมาสมาธิให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความสามัคคีกันในหมู่ของพระสงฆ์เพื่อผลักดันงานให้ไปสู่
ความสำเร็จ ซี่งพระสงฆ์นั้นมีความเชื่อความศรัทธาเป็นทุน มีบุญเป็นกำไร มีปัญหาเป็นตัวแก้ไข และมีเงินเป็นผลพลอยได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อความยั่งยืนและความเข้มแข็งในชุมชน พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ หรือ “หลวงตาแชร์” กล่าว

ซึ่งมีปรัชญาวัดอาศรมธรรมทายาท จังหวัดนครราชสีมา ที่เปรียบเสมือนเป็นแนวคิดหลักสำหรับการทำงานของเครือข่าย ว่า “เสริมสร้างความรู้ เชิดชูคุณธรรม พัฒนาผู้นำ สงเคราะห์มวลชน ประสานองค์กร นำทางพ้นทุกข์” โดยมีกระบวนการทำงานที่สำคัญของเครือข่ายในด้านการจัดการให้ความรู้ จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งรวมไปถึงผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน หรือกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องต่าง ๆ ทั้งการติดยาเสพติด และติดการพนัน หรือชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องการทำมาหากิน ทั้งการอบรม การศึกษาดูงานที่อื่น การพัฒนาความเป็นผู้นำ การให้ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดี การรวมกลุ่มให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และการจัดสวัสดิการตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างแกนนำและคณะทำงาน ซึ่งในอนาคตจะเป็นกำลังหลักในการทำงานของเครือข่ายพระสงฆ์

สร้างบันไดพัฒนา เพียงเจ็ดขั้นเพื่อชุมชน
ในกระบวนการทำงานพัฒนาที่เครือข่ายพระสังฆพัฒนาได้ใช้ทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน จนกระทั่งลงมือปฎิบัติงานในพื้นที่ และรวมไปถึงการประเมินผลการทำงานในแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง โดยทางเครือข่ายฯ ได้สร้างเครื่องมือสำหรับการมองชุมชนและร่วมทำงานโดยใช้ “บันได 7 ขั้นเพื่อการพัฒนา” ดังนี้

ขั้นที่ 1.จะทำหน้าที่ในการค้นหาทุนทางสังคม เรียนรู้ศึกษางานชุมชน หลังจากนั้นใน ขั้นที่ 2 ก็ถอดองค์ความรู้และถอดบทเรียนที่ได้ศึกษามา เพื่อเข้าสู่ ขั้นที่ 3 ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปลุกจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนตนเอง ในขั้นที่ 4 ก็พยายามพัฒนาปรับปรุงและสร้างความภูมิใจในชุมชนโดยการเสริมแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง เมื่อเกิดพลัง และความสุขในการมองชุมชนก็เข้าสู่ ขั้นที่ 5 คือการพยายามหาทางออกและแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นว่าการทำงานได้ผลในระดับหนึ่งควรเป็นแบบอย่างต่อการเรียนรู้ในชุมชนอื่นๆ ก็เดินขึ้นในบันไดขั้นที่ 6 คือ ขยายผลสู่ชุมชนอื่น เพื่อเป็นแบบอย่าง หลังจากนั้นในบันไดขั้นสุดท้าย ขั้นที่ 7 ก็นำสู่ความรู้เหล่านั้น ไปสู่เวทีสาธารณะ และสร้างวิทยากรในชุมชน

ถึงแม้สภาพปัญหาในชุมชนมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกันหลายๆ ฝ่ายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยามความเชื่อ การที่จะแก้ปัญหานั้นคงเกิดขึ้นไมได้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้ามองถึงการเชื่องโยงทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน นำมาประยุกต์และพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหานั้น พระสงฆ์เองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้น แต่การทำงานของพระสงฆ์ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ถือได้ว่าส่งผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ในการเป็นจุดเริ่มต้นและกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมหรืองานในชุมชน ซึ่งหากถอดบทเรียนจากความสำเร็จในอดีต จะพบว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ “ความเชื่อ ความศรัทธา” ที่ประชาชนมีต่อพระ และ “จิตสาธารณะ” ที่สมาชิกในชุมชน มีร่วมกัน ทั้งนี้ “เครือข่าย” ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและนำไปใช้ในการเชื่อมโยงจากเครือข่ายพระสงฆ์สู่ชาวบ้านในชุมชนด้วยเช่นกัน.

ศูนย์ข้อมูล กป.อพช. อีสาน 53/1 ซ.สระโบราณ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ 3200

http://www.esaanvoice.net/esanvoice/know/show.php?Category=knowlege&No=1762

ที่มา : วรเชษฐ เขียวจันทร์ สำนักข่าวชาวบ้าน (222.123.223.14) [2008-01-08 09:59:19]
http://www.peoplepress.in.th/archives/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=1&topic_id=967&topic_no=78&page=1&gaction=on

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น